ชื่อเรื่องการค้นคว้าอิสระ | การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด UPSC Model เพื่อพัฒนาความสามารถการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน |
ผู้เขียน | อนุชา สุดาจันทร์ |
หลักสูตร | ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (วิจัยและเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้) |
อาจารย์ที่ปรึกษาการค้นคว้าอิสระ | รองศาสตราจารย์ ดร. พิชญ์สินี ชมภูคำ |
ปีที่เผยแพร่ | 2567 |
วันที่เผยแพร่ | 28 กุมภาพันธ์ 2567 |
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด UPSC Model 2) เพื่อศึกษาความสามารถการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร จากการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด UPSC Model สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน จำนวน 1 ห้องเรียน 36 คน จากการเลือกตัวอย่างแบบกลุ่ม ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงทดลอง เครื่องมือวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิด UPSC Model เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร 2) แบบประเมินความเหมาะสมของแผน การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด UPSC Model และ3) แบบทดสอบวัดความสามารถการแก้โจทย์ปัญหาแบบอัตนัยจำนวน 6 ข้อ และรูบริคส์ประเมินความสามารถการแก้โจทย์ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลโดย ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S) ค่าสัมประสิทธิ์การแปรผัน (C.V.) คะแนนความก้าวหน้าสัมพัทธ์ t-test (Paired Two Sample for Means) และZ-test (One Sample test for Proportion) ผลการศึกษา พบว่า 1) สร้างแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด UPSC Model เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร จำนวน 3 เนื้อหา 9 แผน ผลการประเมินความเหมาะสมของแผนการจัดการเรียนรู้ ในด้านเนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และรูปแบบของแผน การจัดการเรียนรู้ ทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด และ2) หลังจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิด UPSC Model ผลการประเมินความสามารถด้านการแก้โจทย์ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน มีคะแนนผลต่างเฉลี่ย 38.53 คะแนน ค่าสัมประสิทธิ์การแปรผันหลังเรียนน้อยกว่า ก่อนเรียน ทดสอบด้วยค่าสถิติ t–test พบว่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน ที่นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และทดสอบด้วยค่าสถิติ Z–test พบว่าร้อยละของนักเรียน มีความสามารถการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ระดับดีขึ้นไปมากกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05