
ชื่อเรื่องการค้นคว้าอิสระ | การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความรู้ และความสามารถในการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวนองุ่นเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ |
ผู้เขียน | เรศชัย โจ๊ะเซ |
หลักสูตร | ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (วิจัยและเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้) |
อาจารย์ที่ปรึกษาการค้นคว้าอิสระ | อาจารย์ ดร.เจตนา เมืองมูล |
ปีที่เผยแพร่ | 2568 |
วันที่เผยแพร่ | 17 กุมภาพันธ์ 2568 |
บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความรู้ เรื่อง การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเทคโนโลยีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวนองุ่นเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 2) เพื่อศึกษาความสามารถในการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นหลัง การจัดการเรียนรู้ผสมผสานเทคโนโลยีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวนองุ่นเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรที่ใช้ในการศึกษานี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 38 คน ผู้ศึกษาเป็นผู้รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเทคโนโลยีในการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น เพื่อพัฒนาความรู้ และความสามารถในการเขียนโปรแกรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี 3 จำนวน 8 แผน 2) แบบทดสอบความรู้ใน การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น และ 3) แบบประเมินความสามารถในการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคะแนนพัฒนาสัมพัทธ์ ผลการศึกษา พบว่า 1) ผลการศึกษาความรู้ เรื่อง การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยแบบผสมผสานเทคโนโลยีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวนองุ่นเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 11.68 คะแนน หลังเรียนมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.71 คะแนน โดยมีความก้าวหน้าของหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนเฉลี่ย 5.03 คะแนน และคะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ด้านความรู้การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน พบว่า นักเรียนมีพัฒนาการโดยรวมคะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ เท่ากับ60.44 อยู่ในระดับสูง 2) ผลการพัฒนาความสามารถในการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นหลังการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเทคโนโลยีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวนองุ่นเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวมนักเรียน จำนวน 38 คน มีผลการประเมินเรียงตามลำดับดังนี้ การตรวจสอบข้อผิดพลาด มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับดีขึ้นไป จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 94.74 ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 5.26 การวิเคราะห์ปัญหาจากสถานการณ์ที่กำหนดไว้ และวางแผนออกแบบคำสั่งโปรแกรม มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับดีขึ้นไป จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 92.11 ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 7.89 และจัดทำคำสั่งตามแบบที่วางไว้ มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับดีขึ้นไป จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 86.84 ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 13.16 ตามลำดับ