
ชื่อเรื่องการค้นคว้าอิสระ | การจัดการเรียนรู้แบบโฟนิกส์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านออกเสียงพยัญชนะต้นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้องเรียน EP (English Program) โรงเรียนสันป่าตอง (สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ |
ผู้เขียน | ธารีรัตน์ โล่ทอง |
หลักสูตร | ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (วิจัยและเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้) |
อาจารย์ที่ปรึกษาการค้นคว้าอิสระ | อาจารย์ ดร. เดช สาระจันทร์ |
ปีที่เผยแพร่ | 2568 |
วันที่เผยแพร่ | 17 กุมภาพันธ์ 2568 |
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการพัฒนาความสามารถในการอ่านออกเสียงพยัญชนะต้นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้แบบโฟนิกส์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้องเรียน EP (English Program) โรงเรียนสันป่าตอง (สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2567 จำนวน 27 คน เครื่องมือการศึกษา ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบโฟนิกส์ จำนวน 8 แผน ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น c ที่ออกเสียง /s/ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น ch ที่ออกเสียง /tʃ/ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 3 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น s ที่ออกเสียง /s/ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น sh ที่ออกเสียง /ʃ/ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น p ที่ออกเสียง /p/ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 6 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น ph ที่ออกเสียง /f/ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 7 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น t ที่ออกเสียง /t/ และ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 8 เรื่อง เสียงพยัญชนะต้น th ที่ออกเสียง /θ/ สรุปโดยภาพรวมแผนการจัดการเรียนรู้ มีคุณภาพอยู่ในระดับ มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.58) 2) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน คือ แบบทดสอบความสามารถในการอ่านออกเสียงพยัญชนะต้นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 20 ข้อ ผลการพิจารณาค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Item-Objective Congruence : IOC) ของแบบทดสอบ มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1.00 ทุกข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าคะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ และค่าร้อยละ
ผลการศึกษา พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการอ่านออกเสียงพยัญชนะต้นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ในภาพรวมมีพัฒนาการอยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 77.42) โดยนักเรียนที่มีคะแนนพัฒนาการสูงสุดอยู่ในระดับสูงมาก (ร้อยละ 100.00) และนักเรียนที่มีคะแนนพัฒนาการต่ำสุดอยู่ในระดับกลาง (ร้อยละ 44.44) เมื่อพิจารณาผลการวิเคราะห์จำนวนนักเรียนแยกตามระดับพัฒนาการ พบว่า พัฒนาการระดับต้น มีจำนวน 0 คน คิดเป็นร้อยละ 0 พัฒนาการระดับกลาง มีจำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 7.41 พัฒนาการระดับสูง มีจำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 25.93 และพัฒนาการระดับสูงมาก มีจำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67