การจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs เพื่อพัฒนาความรู้ และความสามารถทางภูมิศาสตร์ เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดข่วงสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อเรื่องการค้นคว้าอิสระการจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs เพื่อพัฒนาความรู้ และความสามารถทางภูมิศาสตร์ เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนวัดข่วงสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้เขียนนพัชกร  นันตาดี
หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิจัยและเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้)
อาจารย์ที่ปรึกษาการค้นคว้าอิสระผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติมา  ญาณะวงษา
ปีที่เผยแพร่2568
วันที่เผยแพร่29 พฤษภาคม 2568

บทคัดย่อ

การศึกษาค้นคว้าอิสระ เรื่องการจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs เพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถทางภูมิศาสตร์ เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดข่วงสิงห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ทางภูมิศาสตร์หลังจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs และเพื่อศึกษาความสามารถทางภูมิศาสตร์หลังจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ 5STEPs 3 หน่วยการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน จำนวน 18 ชั่วโมง เครื่องมือสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบทดสอบความรู้ทางภูมิศาสตร์ และ 2) แบบวัดความสามารถทางภูมิศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ

ผลการศึกษา พบว่า ผลความรู้ทางภูมิศาสตร์หลังจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 30 คน เมื่อเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 70 พบว่า นักเรียนผ่านเกณฑ์จำนวน 19 คน คิดเป็น
ร้อยละ 63.33 และมีจำนวนนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน11 คน คิดเป็นร้อยละ 36.67 เมื่อจำแนกรายบุคคลและรายหน่วย พบว่า คะแนนเฉลี่ยของความรู้ทางภูมิศาสตร์ในหน่วยที่ 1 เรื่อง อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการตั้งถิ่นฐานและย้ายถิ่นฐานมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 7.27 คะแนน รองลงมา
คือ หน่วยที่ 2 เรื่อง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกับวิถีชีวิตและหน่วยที่ 3 เรื่อง การดูแลรักษาและ
การจัดการสิ่งแวดล้อมมีค่าเฉลี่ยเท่ากันที่ 7.13 คะแนน

ผลการประเมินความสามารถทางภูมิศาสตร์หลังจัดการเรียนรู้แบบ 5STEPs เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับลักษณะการดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 30 คน พบว่า ในภาพรวมนักเรียนมีระดับความความสามารถทางภูมิศาสตร์อยู่ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ย 2.61  เมื่อจำแนกตามองค์ประกอบความสามารถทางภูมิศาสตร์รายด้าน พบว่า นักเรียนมีความเข้าใจระบบธรรมชาติและมนุษย์ในระดับดี มีค่าเฉลี่ย 2.27  นักเรียนมีความสามารถด้านการให้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ย 2.57  และนักเรียนมีความสามารถด้านการตัดสินใจอย่างเป็นระบบในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ย 3.00